ด้วยภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทยอยู่ในที่ตั้งที่เหมาะสมแก่การทำการเกษตรเขตร้อนทุกรูปแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกข้าว ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกและยังเป็นประเทศหลักในการปลูกข้าวเพื่อการส่งออกอันดับต้นๆของโลก ข้าวจำนวนมหาศาลที่ประเทศไทยผลิตออกมาแต่ละปี หลังฤดูเก็บเกี่ยวนั้น ส่วนที่เหลือจากการเกี่ยวข้าวคือ “ฟางข้าว” จำนวนมหาศาลเช่นกัน โดยฟางข้าวที่ได้หลังจากปลูกข้าวนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการที่ดีและเหมาะสมเท่าที่ควร และเลือกใช้วิธี “เผาทำลาย”
การเผาฝางข้าวและตอซังข้าวเป็นการจัดการที่ง่ายและรวดเร็วทำให้การไถทำเทือกง่ายขึ้นและเป็นการกำจัดโรคและแมลงบางส่วนที่ตกค้างอยู่ในนา แต่เมื่อพิจารณาถึงผลในระยะยาวแล้ว การเผาตอซังในพื้นที่นาจะมีผลเสียมากกว่า คือเป็นการทำลายอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร และน้ำในดิน ความชื้นในดินลดลง เนื้อดินจะจับตัวแน่นทำให้เก็บน้ำได้น้อยไม่ทนแล้ง สภาพดินแข็งทำให้ไถเตรียมดินได้ตื้นหน้ากินน้อยลง รากพืชแพร่กระจายได้น้อยการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ได้ผลผลิตต่ำ ทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินและทำลายเมลงสัตว์เล็กๆที่เป็นประโยชน์ในไร่นา
นอกจากนี้การเผาฝางข้าวและตอซังข้าว ยังเกิดเขม่าควัน เศษฝุ่นละออง ก๊าซพิษส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เกิดภาวะเรือนกระจก ทำให้โลกร้อนและฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงมากขึ้น บดบังทัศนวิสัยการมองเห็นของผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน และอาจลุกลามไหม้อาคาร บ้านพักอาศัยและสิ่งก่อสร้างอื่น
เพื่ออนุรักษ์ดินและลดภาวะโลกร้อน จึงควรนำฝางข้าวไปเป็นอาหารสัตว์หรือนำไปคลุมดินเพื่อการปลูกผัก หรือนำไปใช้เพาะเห็ด ส่วนตอซังข้าวนั้นใช้วิธีไถกลบ การไถกลบที่ดี “จะพลิกเอารากหญ้าขึ้นมาตากแดดให้แห้งตาย ไถกลบฟางข้าวได้อย่างทั่วถึง การตากดินที่ไถพลิกสมบูรณ์ทำให้ความร้อนจากแสงแดดเข้าทำลายโรคและแมลงที่สะสมอยู่ในดิน ไถได้ลึกส่งผลให้หน้าดินหลวม รากพืชสามารถชอนไชเติบโตและหาอาหารได้ง่าย ข้าวแตกกอดี”
จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองเต่า ร่วมรณรงค์ไม่เผาฝางข้าวและตอซังในทุกพื้นที่ เปลี่ยนไปใช้การไถกลบตอซังข้าว เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มผลผลิตข้าวในนา โดยไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีและเป็นการลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย