เกี่ยวกับอบต.

ประวัติความเป็นมาของตำบลหนองเต่า

          ตำบลหนองเต่า เดิมเป็นตำบลเดียวกันกับตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี       ตำบลพุคามีอาณาเขตกว้างขวาง ทิศเหนือจดตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ ทิศใต้จดตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมืองลพบุรี ทิศตะวันออกจดบ้านเขาสะพานนาค อำเภอโคกสำโรง ทิศตะวันตก จดตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ มีหมู่บ้านรวมกันทั้งหมด ๑๕ หมู่บ้าน นับว่าเป็นตำบลใหญ่ในอำเภอบ้านหมี่ ตำบลหนึ่ง ต่อมาทางราชการได้แบ่งตำบลพุคา ออกเป็น ๒ ตำบล โดยให้บ้านตลาดหนองเต่าและหมู่บ้านฝั่งตะวันตกของทางรถไฟทั้งหมด เป็นอีกตำบลหนึ่ง ชื่อว่าตำบล “หนองเต่า”  มีเนื้อที่ประมาณ ๘๔ ตารางกิโลเมตร

          ตำบลหนองเต่า จึงมีอาณาเขต ทิศเหนือจรดตำบลหนองทรายขาว อำเภอบ้านหมี่ ทิศใต้จดตำบลโคกกะเทียม อำเภอเมืองลพบุรี ทิศตะวันออกจดตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ ทิศตะวันตกจดตำบลบ้านชี อำเภอบ้านหมี่ ตำบลหนองเต่าแบ่งการปกครองออกเป็น ๘ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ ตลาดหนองเต่า หมู่ที่ ๒ โคกสุข หมู่ที่ ๓ หนองฟักทอง หมู่ที่ ๔ หนองเกี่ยวแฝก หมู่ที่ ๕ บ้านลาด หมู่ที่ ๖ หนองเลา หมู่ที่ ๗ หนองเต่า หมู่ที่ ๘ สระกระเบื้อง

          พื้นที่ตำบลหนองเต่า เป็นที่ราบเตียน ไม่มีป่า ไม่มีภูเขา เหมาะแก่การทำนา ทำสวน มีคลองซอยของชลประทานผ่านท้องที่นี้หลายแห่ง ราษฎรในท้องที่จึงมีการทำนาทำสวน ทำไร่กันเป็นส่วนมาก ค้าขายมีส่วนน้อย

          ชาวหนองเต่าเป็นคนมีเชื้อชาติเดิมลาวพวนบ้าง ลาวแง้วบ้าง คนจีนบ้าง คนไทยบ้าง เดิมที่เป็นคนลาวพวน ลาวแง้ว เมื่อครั้งอพยพจากเวียงจันทร์และหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเข้ามาอาศัยทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย แล้วต่อมาพากันอพยพย้ายถิ่นมายังภาคกลาง อยุธยา สิงห์บุรี พรหมบุรี อ่างทอง และลพบุรี โดยเฉพาะที่ลพบุรีมีโคกลำพาน โคกกะเทียม ท่าแค พวกที่มาอยู่ในท้องที่ตำบลโคกกะเทียม ตำบลท่าแค เห็นว่าพื้นที่รกร้างว่างเปล่า จึงพากันขยับขยายแยกย้ายเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในตำบลพุคา หนองเต่า ประกอบการทำมาหากินตลอดมา เมื่อบ้านเรือนอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งเจริญมากขึ้น ภายหลังได้มีคนไทยและคนจีนเข้ามาทำมาค้าขายประจำจนทุกวันนี้

          ตำบลหนองเต่า ได้ชื่อว่า หนองเต่า ก็เพราะว่ามีหนองน้ำแห่งหนึ่ง อยู่ข้างทางรถไฟ ตอนใต้ตัวสถานีหนองเต่าเป็นหนองน้ำที่ลึก เป็นลำหนองไปจดเขตตำบลโคกกะเทียม มีป่าจิก ป่าอ้อย ป่าเลามีน้ำขังอยู่ตลอดไม่แห้ง หนองน้ำนี้มีเต่าชุกชุมผิดปกติ ชาวบ้านไปตักน้ำ ก็พบแต่เต่า ไปหาผัก หาปลา ก็พบแต่เต่า จนแทบหลีกหนีไม่พ้น จึงได้เอานามหนองเต่านี้มาเป็นชื่อตำบลสืบมา

เอกลักษณ์

          ชาวตำบลหนองเต่ามีนิสัยอ่อนโยน เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตั้งหน้าตั้งตาประกอบอาชีพ มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาวพวน ลาวแง้ว และคนไทยเชื้อสายจีน  หากใครได้มาเยือนตำบลหนองเต่า จักต้องมาชม สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ ชั้นล่างสร้างเป็นรูปเต่า พระอุโบสถประดิษฐานบนหลังเต่า มีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ ตั้งอยู่ ณ วัดพานิชธรรมิการาม หมู่ที่ ๑ บ้านตลาดหนองเต่า จึงถือได้ว่าพระอุโบสถหลังนี้เป็นสัญลักษณ์ของชาวตำบลหนองเต่า

วัฒนธรรม / ประเพณีที่โดดเด่น

ประเพณีชาวบ้านตำบลหนองเต่า มีตลอดแทบทุกฤดูกาลเพราะมีคนหลายเชื้อชาติ  อาทิเช่น

๓.๑  ประเพณีกำฟ้า ของชาวลาวพวน  เดือน ๓ ขึ้น ๓ ค่ำ ของทุกปี คนลาวพวนจะพากันทำบุญให้ทาน หยุดการทำงาน ให้วัวให้ควายได้พักผ่อน

๓.๒  ประเพณีสาร์ทพวน วันเพ็ญกลางเดือน ๙ ของทุกปี ชาวบ้านจะหยุดงานทำบุญตักบาตร ตามวัดกลุ่มใครกลุ่มมันแล้วพากันเที่ยวแตร่

๓.๓  ประเพณีสาร์ทแง้ว  วันเพ็ญกลางเดือน ๑๐ ของทุกปี มีการหยุดงานทำบุญตักบาตร

๓.๔  ประเพณีบุญมหาชาติ หลังจากออกพรรษาจะจัดให้มีขึ้นแทบทุกวัด และการจัดนั้นไม่ตรงกัน กลุ่มบ้านของวัดนั้นจัดวันนั้น อีกกลุ่มบ้านหนึ่งวัดหนึ่งก็จัดเลื่อนวันต่อไปตามลำดับ ชาวพุทธทุกบ้านจะพากันทำข้าวปุ้น(ขนมจีน) แล้วแต่งสำรับกับข้าวไว้สู่กันกิน เมื่อใครมาเที่ยวเอาของมาร่วมใส่กระจาดกัณฑ์เทศน์ เขาจะต้องเลี้ยงข้าวปุ้นทุกคน หนุ่มสาวจะพากันไปตามบ้านที่ชอบพอรักใคร่ แม้แต่คนต่างถิ่นที่มาเที่ยวเขาก็เลี้ยง ครั้นตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นต่างก็แต่งสำรับไปทำบุญที่วัด

๓.๕  ประเพณีตรุษสงกรานต์ วันสิ้นเดือน ๔ สงกรานต์ ในเดือน ๕ ส่วนวันตามประกาศปฏิทินหลวงทุกปี ชาวบ้านจะหยุดงาน ทำบุญตักบาตร ๓ วัน มีกาละเล่นพื้นเมือง

๓.๖  ประเพณีสาร์ทไทย สิ้นเดือน ๑๐ ชาวบ้านพากันทำขนมกระยาสารท แจกจ่ายกันกินและทำบุญใส่บาตร กำหนดทำบุญ ๒ วัน ๓ วันบ้างแล้วแต่หมู่บ้าน

๓.๗  ประเพณีตรุษจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนจะจัดทำขึ้นตามฤดูกลางเหมือนชาวจีนทั่วๆไป